กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

  1. กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลใช้บังคับทันทีเมื่อผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว

    การชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ตัวแทนประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย พนักงานบริษัท หรือนายหน้าประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย ผู้ได้รับมอบอำนาจให้รับชำระเบี้ยประกันภัย ตลอดจนบุคคลหรือนิติบุคคลที่บริษัทยอมรับการกระทำของบุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าวเสมือนตัวแทนของบริษัท ให้ถือว่าเป็นการชำระเบี้ยประกันภัยแก่บริษัทโดยถูกต้อง

  2. นิยามศัพท์ กรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยนี้

    • บริษัท หมายความว่า บริษัทที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยนี้
    • ผู้เอาประกันภัย หมายความว่า บุคคลที่ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตาราง
    • ผู้ประสบภัย หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางหรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น และหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ซึ่งถึงแก่ความตายด้วย
    • นายทะเบียน หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมอบหมายโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    • ตาราง หมายความว่า ตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้
    • รถ หมายความว่า รถคันที่เอาประกันภัยซึ่งมีรายการที่ระบุไว้ในตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้
    • อุบัติเหตุแต่ละครั้ง หมายความว่า เหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องกันซึ่งเกิดจากสาเหตุอันเดียวกัน
  3. การคุ้มครองผู้ประสบภัย ภายใต้บังคับข้อ 6 บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้

    3.1 ผู้ประสบภัย

    3.1.1 ในกรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย แต่ไม่ถึงกับสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ตามข้อ 3.1.2 บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัยสามารถเรียกร้องได้ตามมูลละเมิด ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน

    3.1.2 ในกรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินคุ้มครอง ดังนี้

    (1) กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (2) กรณีสูญเสียมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนสองข้าง หรือเท้าสองข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาสองข้าง หรือสายตาสองข้าง(ตาบอด) บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000บาท ต่อหนึ่งคน
    (3) กรณีสูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ แขนหนึ่งข้าง เท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้าขาหนึ่งข้าง สายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด) ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไปบริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (4) กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (5) กรณีสูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่งข้าง หรือสายตาหนึ่งข้าง (ตาบอด) กรณีใดกรณีหนึ่ง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (6) กรณีหูหนวก เป็นใบ้หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (7) กรณีสูญเสียอวัยวะอื่นใดนอกเหนือจากที่ระบุไว้ใน (2) (3) (5) (6) และ (8) ซึ่งการสูญเสียหรือการถูกทำลายลงแล้วนั้นจะกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ประสบภัย เช่น การสูญเสีย ม้าม ปอด ตับ ไต หรือ ฟันแท้ทั้งซี่ตั้งแต่ 5 ซี่ ขึ้นไป หรือกรณีกะโหลกศีรษะถูกทำให้เสียหายเป็นเหตุให้ต้องใช้กะโหลกเทียม เป็นต้น บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน
    (8) กรณีสูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาทต่อหนึ่งคน

    ทั้งนี้ กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัยหลายกรณี บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินคุ้มครองเฉพาะกรณีที่มีจำนวนเงินคุ้มครองที่สูงกว่า

    3.1.3 ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทต่อหนึ่งคน

    3.1.4 ในกรณีได้รับความเสียหายตามข้อ 3.1.1 และต่อมาได้รับความเสียหายตามข้อ 3.1.2บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามข้อ 3.1.2 แต่หากเป็นกรณีได้รับความเสียหายตามข้อ 3.1.1 และต่อมาได้รับความเสียหายตามข้อ 3.1.3 หรือทั้งข้อ 3.1.2 และข้อ 3.1.3บริษัทจะจ่ายไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน

    3.1.5 ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความคุ้มครองที่ระบุใน 3.1.1 ข้อ 3.1.2 ข้อ 3.1.3 และข้อ 3.1.4

    3.1.6 กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิใช่ผู้ขับขี่ทั้งนี้ในกรณีผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ให้นำความในข้อ 3.1.1 ข้อ 3.1.2 ข้อ 3.1.3 ข้อ 3.1.4 และข้อ 3.1.5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

    3.1.7 กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น รวมกันแล้วไม่เกินจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งที่ระบุไว้ในรายการที่ 4 ของตาราง

  4. ค่าเสียหายเบื้องต้น ภายใต้บังคับข้อ 6 บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับการร้องขอ โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นดังต่อไปนี้

    4.1 กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อหนึ่งคน

    4.2 กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน

    (ก) ตาบอด
    (ข) หูหนวก
    (ค) เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
    (ง) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
    (จ) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
    (ฉ) เสียอวัยวะอื่นใด
    (ช) จิตพิการอย่างติดตัว
    (ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร

    4.3 กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อหนึ่งคน

    4.4 จำนวนตาม 4.1 และ 4.2 รวมกันหรือจำนวน 4.1 และ 4.3 รวมกัน แต่หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายตามข้อ 4.1 4.2 และ 4.3 หรือได้รับความเสียหายตามข้อ 4.2 และ 4.3 ให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันไม่เกินจำนวน 65,000 บาท

    4.5 กรณีรถตั้งแต่สองคันขึ้นไป ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัย บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตาม 4.1 4.2 4.3 หรือ 4.4 แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท แต่ถ้าผู้ประสบภัยมิใช่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในรถคันหนึ่งคันใดที่ร่วมก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวข้างต้น บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยในอัตราส่วนที่เท่ากัน ความเสียหายเบื้องต้นทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3

  5. การขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยต้องร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นต่อบริษัทภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น และต้องมีหลักฐานดังนี้

    5.1 ความเสียหายต่อร่างกาย

    5.1.1 ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

    5.1.2 สำเนาบัตรประจำตัว หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทางหรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย แล้วแต่กรณีในกรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ 4.2 นอกจากต้องยื่นหลักฐานตาม 5.1.1 และ 5.1.2 แล้ว ให้ยื่นใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ หรือหลักฐานอื่นใดที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งได้รับความเสียหายต่อร่างกายดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย

    5.2 ความเสียหายต่อชีวิต

    5.2.1 สำเนามรณบัตรหรือหลักฐานอื่นใดที่นายทะเบียนประกาศกำหนดซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย

    5.2.2 สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะการประสบภัยจากรถ

    5.2.3 การร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม 5.1 และ 5.2 รวมกันให้มีหลักฐานตาม 5.1 และ 5.2

  6. การสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิต** ในกรณีรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประสบอุบัติเหตุชนกับรถอื่น ซึ่งมีการประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วยเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย บริษัทตกลงจะสำรองจ่าย ให้แก่ ผู้ประสบภัยซึ่งโดยสารมาในรถ หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ดังนี้

    6.1 ค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงิน ไม่เกิน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน สำหรับกรณีได้รับบาดเจ็บ

    6.2 ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะกรณีทุพพลภาพอย่างถาวร หรือกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ตามข้อ 3.1.2 เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท หรือ 250,000 บาท หรือ 300,000 หรือ 500,000 บาทต่อหนึ่งคนหรือกรณีเสียชีวิตตามข้อ 3.1.3เป็นจำนวนเงิน 500,000บาทต่อหนึ่งคนแล้วแต่กรณี

    6.3 ค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน วันละ 200 บาท รวมไม่เกิน 20 วัน

    6.4 ข้อ 6.1 และข้อ 6.2 รวมกันจำนวนเงินตามข้อ 3.1.4 สำหรับผู้ประสบภัยที่เป็นบุคคลภายนอกรถ บริษัทและผู้รับประกันภัยรถอื่นจะร่วมกันสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิตตามวรรคต้น โดยเฉลี่ยฝ่ายละเท่าๆ กันเมื่อมีการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิตตามเงื่อนไขนี้แล้ว หากปรากฏว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดจากความประมาทของผู้อื่น มิใช่ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารรถที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทแล้ว บริษัทมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิตที่บริษัทได้สำรองจ่ายไปคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายนั้นในทางกลับกันหากบริษัทผู้รับประกันภัยรถอื่น ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิตให้แก่ผู้ประสบภัยหรือทายาทผู้ประสบภัยที่โดยสารมา หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถที่ตนรับประกันภัยไว้ หรือผู้ประสบภัยที่อยู่นอกรถแล้ว และปรากฏว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทแล้ว บริษัทตกลงจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพอย่างถาวร ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือเสียชีวิตคืนแก่บริษัทผู้รับประกันภัยรถอื่นซึ่งได้สำรองจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ

  7. การคุ้มครองผู้ขับขี่ บริษัทจะถือว่าบุคคลใด ซึ่งขับขี่รถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และบุคคลนั้นต้องปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้

  8. การคุ้มครองความรับผิดของผู้โดยสาร กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครอง เมื่อผู้โดยสารนั้นจะต้องรับผิดจากรถที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้น

  9. การแจ้งอุบัติเหตุ เมื่อมีความเสียหายต่อผู้ประสบภัยจากรถ ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่ต้อง

    9.1 แจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้าทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยอาจแจ้งให้บริษัททราบผ่านแอพพลิเคชันสำหรับการแจ้งอุบัติเหตุรถยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือแอพพลิเคชันที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาขึ้น ซึ่งได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับแอพพลิเคชันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด

    9.2 ส่งต่อให้บริษัททันทีเมื่อได้รับหมายศาล หรือคำสั่ง หรือคำบังคับของศาล

    9.3 มีหนังสือบอกกล่าวให้บริษัททราบทันทีเมื่อมีการดำเนินคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทางศาล อันอาจทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้ปฏิบัติตามข้อนี้ บริษัทอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้เอาประกันภัยเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการนั้น เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยจะพิสูจน์ได้ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้

  10. การจัดการเรียกร้อง

    10.1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทและทำให้บริษัทเสียหายบริษัทอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้เอาประกันภัยอันเกิดจากการนั้น เว้นแต่ความเสียหายนั้น ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และบริษัทไม่จัดการต่อการเรียกร้องนั้น

    10.2 บริษัทมีสิทธิเข้าดำเนินการต่อสู้คดี

    10.3 บริษัทมีสิทธิฟ้องบุคคลใดให้ใช้ความเสียหายเพื่อประโยชน์ของบริษัทในนามของผู้เอาประกันภัย ในการนี้ผู้เอาประกันภัยต้องให้ข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทตามสมควรจนคดีถึงที่สุด

    10.4 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่บริษัทต้องรับผิดตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ตามแต่กรณีแล้วก่อนดำเนินคดีทางศาล บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบต่อสู้คดีแทนผู้เอาประกันภัย

    10.5 กรณีบริษัทปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยมิชอบ ผู้เสียหายได้นำคดีขึ้นสู่ศาลหรือเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อศาลพิพากษาหรืออนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้บริษัทแพ้คดี บริษัทจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาหรือตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ พร้อมดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด

  11. การแจ้งความ เมื่อมีการกระทำความผิดในทางอาญาโดยบุคคลใด ซึ่งทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า

  12. ค่าใช้จ่ายต่อสู้คดี ถ้าผู้เอาประกันภัยถูกฟ้องศาลให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งการประกันภัยนี้มีการคุ้มครองบริษัทจะต่อสู้คดีในนามของผู้เอาประกันภัยโดยค่าใช้จ่ายของบริษัท

  13. การโอนรถ ในกรณีที่รถที่เจ้าของได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ได้โอนไปยังบุคคลอื่น ให้ผู้ได้มาซึ่งรถดังกล่าวมีฐานะเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น และบริษัทต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวต่อไปตลอดอายุของกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังเหลืออยู่

  14. การใช้รถ กรณีใช้รถในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในตาราง ซึ่งทำให้การเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น ผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้บริษัทตามจำนวนที่บริษัทได้จ่ายไป แต่ไม่เกิน 2,000 บาท

  15. การเลิกกรมธรรม์ประกันภัย

    15.1 บริษัทเป็นผู้บอกเลิก:บริษัทอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

    (1) บริษัทอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยการส่งหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัยตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ ซึ่งจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ ณ วันพ้นกำหนดดังกล่าว
    (2) บริษัทอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันและบริษัทต้องทำตามวิธีการแบบปลอดภัยในระดับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทที่มีลักษณะที่เชื่อถือได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งข้อมูลการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยไปยังระบบข้อมูลที่ผู้เอาประกันภัยระบุไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องยินยอมให้บริษัทจัดส่งข้อมูลการบอกเลิกด้วยวิธีการดังกล่าว และบริษัทต้องจัดให้มีกระบวนการแจ้งเตือนแก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อได้ดำเนินการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีนี้บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน

    15.2 ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้บอกเลิก: ผู้เอาประกันภัยอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

    (1) ผู้เอาประกันภัยอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยการแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับทันที ณ วันเวลาที่บริษัทได้รับหนังสือบอกเลิก หรือวันเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิก แล้วแต่ว่าวันใดเป็นวันหลังสุด
    (2) ผู้เอาประกันภัยอาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทต้องทำตามวิธีการแบบปลอดภัยในระดับที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และแจ้งวิธีการให้ผู้เอาประกันภัยทราบ ซึ่งจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ ณ วันที่ข้อมูลการบอกเลิกส่งไปยังระบบข้อมูลที่บริษัทระบุไว้เท่านั้น หรือ ณ วันที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิก แล้วแต่ว่าวันใดเป็นวันหลังสุด

    ในกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืน ตามอัตราการคืนเบี้ยประกันภัยที่ระบุไว้ข้างล่าง

    จำนวนเดือนที่คุ้มครองเบี้ยประกันภัยคืนร้อยละ
    180
    270
    360
    450
    540
    630
    720
    815
    910
    100
    110
    120
  16. การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่มีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ระหว่างผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยกับบริษัท และหากผู้มีสิทธิเรียกร้องประสงค์ และเห็นควรยุติข้อพิพาทนั้น โดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ บริษัทตกลงยินยอม และให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

  17. การตีความกรมธรรม์ประกันภัย ความหมายและเจตนารมณ์ของข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบให้ตีความตามที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้

  18. ข้อยกเว้น การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก

    18.1 สงคราม การรุกราน การกระทำของชาติศัตรู การสู้รบ หรือการปฏิบัติการที่มีลักษณะเป็นการทำสงคราม (จะได้ประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม)

    18.2 สงครามกลางเมือง การแข็งข้อของทหาร การกบฏ การปฏิวัติ การต่อต้านรัฐบาล การยึดอำนาจการปกครองโดยกำลังทหารหรือโดยประการอื่น ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดหรือเท่ากับการลุกฮือต่อต้านรัฐบาล

    18.3 วัตถุอาวุธปรมาณู

    18.4 การแตกตัวของประจุ การแผ่รังสี การกระทบกับกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงปรมาณู หรือจากกากปรมาณูอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงปรมาณู และสำหรับจุดประสงค์ข้อสัญญานี้การเผาไหม้นั้น รวมถึงกรรมวิธีใดๆ แห่งการแตกแยกปรมาณู ซึ่งดำเนินต่อไปด้วยตัวของมันเอง

    18.5 ความเสียหายที่เกิดจากรถที่ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์

    18.6 การใช้นอกประเทศไทย

    18.7 การใช้รถยนต์ในทางผิดกฎหมาย เช่น ใช้รถยนต์ไปปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือใช้ขนยาเสพติด ไม่ว่าจะมีการดัดแปลงรถหรือไม่ก็ตาม หรือใช้รถยนต์หลบหนีจากการกระทำความผิดทางอาญา หรือหลบหนีการตรวจค้นหรือการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

    18.8 การใช้ในการแข่งขันความเร็ว

  19. ข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัย หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ เว้นแต่ข้อ 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 และ 18.6 เป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัย เพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัทภายใน 7 วัน

549/1 ชั้นที่ 1 ถนนสรรพาวุธ แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร (10260)

แหล่งข้อมูล

นโยบายความเป็นส่วนตัวกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเช่าซื้อจักรยายนต์

เกี่ยวกับเรา

ฐานะการเงิน


ช่องทางติดต่อ

0-2105-4689

2023 © All right reserved by iCare Insurance